ถ้าคุณกินผักแล้วท้องอืด แต่ก็อยากสุขภาพดีด้วยการกินผัก แต่ก็ไม่อยากท้องอืดแน่นท้อง Urban Farming ชวนมาทำความเข้าใจเรื่องนี้กันครับ
ทำไมกินผักแล้วท้องอืด?
คำตอบก็คือ เพราะว่าผักโดยเฉพาะผักสดนั้น มีใยอาหารจำนวนมาก และการจะย่อยใยอาหารหรือไฟเบอร์ได้นั้นต้องใช้แบคทีเรียในการย่อยครับ
ในช่วงเวลาที่แบคทีเรียในลำไส้กำลังย่อยกากใยในอาหารให้เรา พวกเค้าจะปล่อยกรดบางชนิดออกมา จึงทำให้มือใหม่หัดทานผัก ที่ท้องอาจจะยังไม่คุ้นเคยกับการปล่อยบางคนเกิดอาการท้องอืดได้นั่นเองครับ
ปัญหานี้ แก้ได้ไม่ยากนะครับ แค่มีเคล็ดลับนิดหน่อยเท่านั้นเอง
4 วิธีกินผักแบบไม่ต้องกังวลท้องอืด
เริ่มจากน้อยไปมาก
สำหรับมือใหม่หัดขับ เพิ่งจะเริ่มทานผักหรือเมนูเพื่อสุขภาพ หลายท่านมีความตื่นตัวอย่างมาก ก็โหมทานผักแบบจัดมาเต็มพิกัด แน่นอนว่าร่างกายของเราอาจจะยังไม่เคยชินครับ เมื่อต้องระดมแบคทีเรียจำนวนมากมาย่อยใยอาหารเหล่านั้น ก็จะเกิดกรดที่ทำให้ท้องอืดได้นั่นเอง
ดังนั้น ในระยะแรกเริ่มควรจะเริ่มทานผักจากทีละน้อย ๆ แล้วค่อยเพิ่มปริมาณทีละหน่อยครับ เพื่อให้เวลาร่างกายของเราได้ปรับตัวนั่นเอง
ทานผักสุกเยอะหน่อย ค่อย ๆ เติมผักสด
ทำไมควรทานผักสุกในระยะเริ่มต้น นั่นก็เพราะว่า ผักสุกย่อยง่ายกว่าครับ คนส่วนใหญ่จะกินผักสุกได้มากกว่าผักสดอีกด้วย
ดังนั้น สำหรับมือใหม่ที่ยังพบกับปัญหาท้องอืดเมื่อทานผัก ลองเลือกทานผักสุกให้มากหน่อย เมื่อร่างกายปรับตัวได้แล้วจึงค่อย ๆ เพิ่มสัดส่วนผักสดทีละน้อย ใช้เวลาไม่นานก็จะสามารถทานผักสดตามใจชอบได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องท้องอืดแล้วครับ
ลดการกินผักที่ทำให้เกิดแก๊สในลำไส้
ใช่แล้วครับ โลกนี้มีผักบางชนิดที่มีประโยชน์มากมาย แต่ก็เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดแก๊สในลำไส้ได้ด้วย
ดังนั้น ในระยะที่ท้องของคุณยังไม่คุ้นเคย อาจจะเลือกทานผักจำพวกนี้ในปริมาณที่น้อยลงหน่อย ผักที่ทำให้เกิดแก๊สในลำไส้ได้ง่ายก็ เช่น บรอกโคลี ดอกกะหล่ำ กะหล่ำปลี หัวผักกาด หัวหอม กระเทียม ถั่ว เป็นต้น ครับ
กินผักให้เป็นประจำสม่ำเสมอ
สุดท้ายครับ การจะกินผักเพื่อสุขภาพที่ดี ไม่มีอาการท้องอืดมากวนใจนั้น เราควรกินผักให้เป็นประจำสม่ำเสมอ ให้ร่างกายคุ้นเคยกับการย่อยใยอาหาร และต้องไม่ลืมที่จะเคี้ยวอาหารให้ละเอียด เพราะการเคี้ยวอาหารไม่ละเอียดภาระหนักจะตกอยู่กับกระเพาะและลำไส้ ทำให้ท้องอืดได้เช่นกันครับ
สรุป
นี่ก็คือ 4 วิธีกินผักแบบไม่ต้องกังวลเรื่องท้องอืดครับ สำคัญที่สุดเลยคือคุณต้องไม่ลืมที่จะดื่มน้ำเยอะ ๆ และเดินให้บ่อยขึ้นอีกนิดหลังจากมื้ออาหารนะครับ เพราะการเดินหลังมื้ออาหาร 10 – 15 นาที จะช่วยให้ลำไส้เล็กบีบตัวได้ดี แบคทีเรียในลำไส้สร้างแก๊สน้อยลง ช่วยป้องกันอาการท้องอืดได้อีกทางครับ