หากถามว่าผักออร์แกนิค กับ ผักปลอดสารพิษ แตกต่างกันอย่างไร เชื่อว่าหลายท่านที่เคยซื้อผักออร์แกนิคมารับประทานคงต้องบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าต่างกันที่ “ราคา” ไงครับ แล้วก็เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้เสียด้วย เพราะผักออร์แกนิคมีราคาสูงจริง ๆ แต่ราคาที่เพิ่มมากขึ้นนั้น ก็มีที่มาที่ไปนะครับ บทความนี้เออร์บัน ฟาร์มมิ่งจะพามาหาคำตอบว่าเพราะเหตุใดผักออร์แกนิคจึงได้รับความนิยมจากผู้ที่ใส่ใจสุขภาพ และมีความแตกต่างจากผักปลอดสารพิษอย่างไรบ้าง
ผักออร์แกนิค
แนวคิดพื้นฐานสำคัญที่ก่อให้เกิดผักออร์แกนิค คือ เกษตรอินทรีย์ หรือ Organic Agriculture ซึ่งหมายถึง ระบบจัดการผลิตด้านการเกษตรแบบองค์รวมที่เกื้อหนุนต่อระบบนิเวศ รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพ วงจรชีวภาพ โดยเน้นการใช้วัสดุธรรมชาติ หลีกเลี่ยงการใช้วัตถุดิบจากการสังเคราะห์ และใช้พืช สัตว์ หรือจุลินทรีย์ที่ได้มาจากเทคนิคการดัดแปลงพันธุกรรม (Genetic Modification) มีการจัดการกับผลิตภัณฑ์โดยเน้นการแปรรูปด้วยความระมัดระวัง เพื่อรักษาสภาพการเป็นเกษตรอินทรีย์ และคุณภาพที่สำคัญของผลิตภัณฑ์ในทุกขั้นตอน
กล่าวโดยสรุปง่าย ๆ ถึงหลักการสำคัญของเกษตรอินทรีย์ คือ
1. การใช้แนวทางเกษตรผสมผสาน รักษาความหลากหลายทางชีวภาพ
2. ดูแลความยั่งยืนของระบบนิเวศโดยรวม ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
3. รักษาความอุดมสมบูรณ์ของดินและคุณภาพน้ำ ด้วยอินทรียวัตถุ
4. การไม่ใช้สารกำจัดศัตรูพืช และปุ๋ยที่เป็นสารเคมีสังเคราะห์
5. ผลิตผลและผลิตภัณฑ์ต้องไม่ได้มาจากการดัดแปลงพันธุกรรม และไม่ผ่านการฉายรังสี
6. มีระยะเวลาของการปรับเปลี่ยนสู่เกษตรอินทรีย์
เห็นแล้วใช่ไหมครับ ว่ากว่าจะได้ผักออร์แกนิคที่มีความปลอดภัยต่อสุขภาพ ต้องผ่านกระบวนการผลิตที่ซับซ้อน ดังนั้น เมื่อคุณเห็นราคาของผักออร์แกนิคในครั้งไปอย่าบ่นว่าแพงเลยครับ เพราะหากเทียบกับผลลัพธ์จากกระบวนการผลิตที่พึ่งพาธรรมชาติแบบ 100 % และคำนึงถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ก็ถือว่าคุ้มค่าเงินที่ต้องจ่ายไปอย่างแน่นอน
วิธีสังเกตฉลากผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคหรืออินทรีย์
สำหรับคนที่ไม่สะดวก หรือไม่มีเวลาปลูกผักออร์แกนิคไว้รับประทานเอง แต่ต้องการบริโภคผักออร์แกนิคที่สด สะอาด และปลอดภัย เรามีวิธีสังเกตฉลากผลิตภัณฑ์แบบง่าย ๆ โดยฉลากผลิตผลและผลิตภัณฑ์อินทรีย์ ต้องมีข้อความแสดงรายละเอียดให้เห็นได้ง่าย ชัดเจน ซึ่งควรมีรายละเอียด ดังนี้
• ชื่อผลิตภัณฑ์
• ส่วนประกอบที่สำคัญ
• วัตถุเจือปนอาหาร
• ปริมาตร/น้ำหนักสุทธิ
• ชื่อและที่ตั้งผู้ผลิต
• ประเทศ
• วันเดือนปีที่หมดอายุ
• คำแนะนำในการเก็บรักษา
ผักปลอดสารพิษ
ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง อาหารที่มีสารเคมีตกค้าง ฉบับที่ 163 พ.ศ.2538 ได้ให้นิยามของผักปลอดสารพิษ หมายถึง ผักที่มีระบบการผลิตที่ใช้สารเคมีในการป้องกันและปราบศัตรูพืช รวมทั้งปุ๋ยเคมีเพื่อการเจริญเติบโตของพืช แต่ให้เว้นช่วงการใช้สารเคมีก่อนการเก็บเกี่ยว ซึ่งผลผลิตที่ได้ยังมีสารเคมีตกค้าง แต่ไม่เกินในปริมาณที่กำหนดเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค โดยมีการขอใบรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้ใบรับรองผักปลอดสารพิษ
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษนั้น จะใช้หลักการปลูกพืชผักโดยการใช้สารเคมีในการผลิตให้น้อยที่สุดหรือใช้ตามความจําเป็นเท่านั้น โดยหลักในการพิจารณาใช้สารเคมีและสารกำจัดศัตรูพืช ต้องอยู่บนพื้นฐานสำคัญ ดังนี้
1. ใช้สารเคมีที่เหมาะสมกับศัตรูพืชชนิดนั้น
2. สารเคมีที่ใช้นั้น ต้องสลายตัวได้เร็ว
3. ใช้สารเคมีในอัตราที่เหมาะสมตามคําแนะนําอย่างเคร่งครัด
4. เว้นระยะการเก็บเกี่ยวผลผลิตตามคําแนะนํา
ทั้งนี้ ก็เพื่อไม่ให้เกิดอันตราย หรือมีสารพิษตกค้างในพืชผัก และมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค นอกจากนี้ เกษตรกรบางส่วนยังใช้หลักการป้องกันและกําจัดศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน หรือใช้วิธีการอื่น ๆ ร่วมด้วยเพื่อช่วยลดการใช้สารเคมี เช่น การปลูกผักในโรงเรือนมุ้งตาข่ายไนล่อน หรือการใช้กับดักแสงไฟล่อแมลงในเวลากลางคืน เป็นต้น
สรุปตวามต่างระหว่างผักออร์แกนิคกับผักปลอดสารพิษ
จะเห็นได้ว่า ความแตกต่างระหว่างผักออร์แกนิคกับผักปลอดสารพิษนั้น นอกเหนือจากราคาแล้ว สิ่งที่แตกต่างกันก็คือ คุณภาพความปลอดภัยของผลผลิต ผักออร์แกนิคเป็นผักที่ปลูกด้วยกระบวนการผลิตที่พึ่งพาธรรมชาติแบบ 100 % ไม่มีการใช้สารเคมีเลยในกระบวนการผลิตเลยตั้งแต่ต้นจนจบ ปลอดภัยแบบ 100 % แถมรักษ์โลกแบบ 100 % ด้วยครับ
ส่วนผักปลอดสารพิษนั้น อาจจะมีการใช้สารเคมี เช่น ปุ๋ยเคมีอยู่บ้าง แต่ก็จะมีการเว้นช่วงการเก็บเกี่ยวให้ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค ซึ่งก็ถือว่าปลอดภัยกว่าผักทั่วไปในท้องตลาดครับ