อาการท้องผูกเป็นปัญหาที่ใคร ๆ ก็เป็นได้ และเชื่อว่าเคยเป็นกันทุกคน ยิ่งมีอาการท้องผูกถ่ายยากด้วย ยิ่งไม่แฮปปี้ไปกันใหญ่ บทความนี้ เรามาดูกันว่าอาการท้องผูกของเรานั้นอยู่ในระดับที่เป็นปัญหาหรือไม่ และเมื่อเป็นแล้วมีวิธีแก้ท้องผูกถ่ายยากอย่างไรครับ
รู้ได้อย่างไร ว่าท้องผูกแล้ว
อาการท้องผูกเกิดได้จากหลายสาเหตุครับ เช่น ลำไส้ใหญ่ทำงานผิดปกติ จนทำให้อุจจาระเคลื่อนตัวได้ช้า เมื่อร่างกายดึงน้ำออกจากอุจจาระจะทำให้อุจจาระแข็ง ขับถ่ายลำบาก หรือแม้แต่การเบ่งถ่ายอุจจาระผิดวิธีก็ทำให้ท้องผูกได้เช่นกัน ซึ่งเกิดจากการทำงานไม่ประสานกันระหว่างกล้ามเนื้อที่ควบคุมการเบ่งอุจจาระกับกล้ามเนื้อหูรูด ทำให้อุจจาระไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ รวมไปถึงการรับประทานยาบางชนิดด้วย แต่สาเหตุหลัก ๆ ของอาการท้องผูก คือ พฤติกรรมของเรานี่แหละครับที่ไปเป็นตัวกระตุ้นให้ลำไส้ใหญ่ทำงานผิดปกติ
เชื่อไหมครับ ว่า 50 % ของคนท้องผูก มีสาเหตุมาจากไม่กินอาหารจำพวกผัก และผลไม้ในปริมาณที่เพียงพอ รวมไปถึงขาดการออกกำลังกาย และดื่มน้ำน้อย จนนำไปสู่การทำงานของลำไส้ใหญ่ที่ผิดปกติ ทำให้อุจจาระแข็งจนถ่ายไม่ออก ต้องออกแรงเบ่งอุจจาระเป็นเวลานาน และมีอาการท้องผูกนั่นเอง
ผลที่ตามมาหลังจากท้องผูก
อาการท้องผูกไม่จบแค่ถ่ายอุจจาระลำบากเท่านั้นครับ แต่ยังนำมาซึ่งอาการเจ็บป่วยที่ต่อเนื่อง เช่น โรคริดสีดวงทวาร เนื่องจากเวลาเบ่งอุจจาระเป็นเวลานาน ทำให้เกิดแรงดันจนหลอดเลือดโป่งพอง และอุจจาระที่แข็งจะไปครูดกับหลอดเลือดบริเวณรอบทวารหนักจนทำให้เกิดบาดแผลได้ และการเบ่งอุจจาระเป็นเวลานานจะทำให้เกิดแรงดันสะสมรุนแรง หากเกิดในลูกตาจะเป็นอันตรายต่อผู้ที่ผ่าตัดตา หากเกิดแรงดันในช่องท้องจำทำให้เกิดอาการไส้เลื่อน หรือถ้าเกิดแรงดันในช่องอกจะเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคหัวใจ ทำให้หัวใจขาดเลือดหรือเต้นผิดปกติได้ ยิ่งถ้าปล่อยให้เกิดอาการท้องผูกเรื้อรังจะนำไปสู่อาการลำไส้อุดตันได้อีกด้วย
4 วิธีแก้ท้องผูกถ่ายยากสำหรับคนท้องผูก
จริง ๆ แล้วสาเหตุหลักของอาการท้องผูกเกิดจากพฤติกรรมของเราเป็นส่วนใหญ่ครับ ซึ่งแนวทางแก้ไขอาการท้องผูกจึงทำได้ไม่ยากเลยครับ ก็แค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเราเท่านั้นเอง คราวนี้ ลองมาดูซิว่าเราพอจะทำอะไรได้บ้าง เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาท้องผูกในเบื้องต้น
1. รับประทานผัก และผลไม้ในปริมาณที่เพียงพอ เพราะผัก และผลไม้ อุดมไปด้วยกากใยอาหารเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณอุจจาระ และเป็นแหล่งอาหารของจุลินทรีย์โพรไบโอติกที่มีส่วนกระตุ้นการทำงานของลำไส้ใหญ่ ทำให้ลำไส้ใหญ่ทำงานเป็นปกติ โดยในแต่ละวันเราควรรับประทานผัก และผลไม้ให้ได้อย่างน้อยวันละ 400 กรัม
2. ดื่มน้ำอย่างน้อย วันละ 8 แก้ว ร่างกายมนุษย์ประกอบด้วยของเหลวประมาณ 70 % แต่ละวันร่างกายจะมีสูญเสียน้ำจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา ร่างกายเราจึงต้องการน้ำเข้าไปชดเชยน้ำที่สูญเสียไป หากร่างกายขาดน้ำจะนำไปสู่กระบวนการดึงน้ำที่อยู่ในอุจจาระกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ ซึ่งจะทำให้อุจจาระแข็ง เป็นสาเหตุให้ขับถ่ายได้ลำบากนั่นเอง
3. ออกกำลังกายเป็นประจำ การเคลื่อนไหวร่างกายอย่างสม่ำเสมอ นอกจากจะช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรงแล้ว ยังดีต่อระบบอวัยวะภายในอีกด้วย หนึ่งในอวัยวะภายในที่สำคัญ คือ ลำไส้ใหญ่ การออกกำลังกายเป็นประจำ จะช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ใหญ่ให้ทำงานเป็นปกติ สามารถขับถ่ายได้สะดวก
4. ขับถ่ายให้เป็นเวลา การฝึกขับถ่ายให้เป็นเวลาสม่ำเสมอ จะช่วยให้ร่างกายจดจำเวลาในการขับถ่าย และทำให้เราไม่อั้นอุจจาระซึ่งจะเป็นสาเหตุที่ทำให้อุจจาระตกค้างในลำไส้ใหญ่นานเกินไป จนนำไปสู่การดึงน้ำออกจากอุจจาระได้
สรุป
ไม่ยากเลยใช่ไหมครับ สำหรับการป้องกันปัญหาท้องผูก เพียงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะสม และทำจนเป็นนิสัย “ท้องผูกได้ ก็แก้ได้ครับ”